Archive กันยายน 2019

“เนื้องอกในมดลูก”กับสัญญาณอันตรายที่ต้องระวัง

“เนื้องอกในมดลูก” นับว่าเป็นโรคที่ผู้หญิงหลายคนหวาดกลัว เพราะอาจเคยพบเห็น หรือได้ยินข่าวคราวจากเพื่อนรอบข้างว่าเป็นโรคนี้จนต้องเข้ารับการผ่าตัด และไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างชัดเจนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

แต่หากเราทราบอาการเริ่มต้นของเนื้องอกในมดลูก เราจะสามารถสังเกตอาการของตัวเองได้เร็ว และรีบพบแพทย์ได้ทัน ก่อนที่อาหารจะลุกลาม และหนักกว่าเดิม

เนื้องอกในมดลูก เป็นอาการที่พบได้บ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน ไปจนถึงช่วงอายุ 25-30 ปี โดยผู้หญิง 10 คน อาจจะอัลตร้าซาวนด์เจอเนื้องอกได้ 3-5 คน โดยขนาดเนื้องอกที่ตรวจพบมีขนาดตั้งแต่เล็ก ๆ ไม่กี่มิลลิเมตร ไปจนถึงขนาดใหญ่หลายเซนติเมตร หรือขนาดใหญ่กว่ากำปั้น

สาเหตุของเนื้องอกในมดลูก
สาเหตุของอาการเนื้องอกในมดลูกไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัด เพราะไม่ได้เกี่ยวกับการติดเชื้อโรคใด ๆ แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงมาจากกรรมพันธุ์ และการทำงานที่ผิดปกติของฮอร์โมนเพศหญิง เป็นต้น

สัญญาณอันตราย “เนื้องอกในมดลูก”

  1. คลำเจอก้อนที่บริเวณท้องน้อย
  2. มีประจำเดือนออกเยอะผิดปกติ เพราะเนื้องอกไปเบียดมดลูก
  3. ตรวจเจอภาวะมีบุตรยาก เพราะก้อนเนื้อเข้าไปขวางการฝังตัวของทารกในโพรงมดลูก
  4. ปวดปัสสาวะบ่อย หากพบก้อนเนื้องอกที่ยื่นออกมาด้านนอกมดลูก แล้วเข้าไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ

การรักษาอาการเนื้องอกในมดลูก
หากพบก้อนเนื้อขนาดเล็กราว 0.5-2 เซนติเมตร แพทย์อาจนัดพบเพื่อตรวจตามอาการไปเรื่อย ๆ ก่อน

แพทย์อาจพิจารณาการใช้ยา อาจเป็นยาคุมกำเนิดที่ช่วยลดปริมาณประจำเดือน หรือยาฉีดบางตัวที่เป็นฮอร์โมนกดการทำงานของฮอร์โมนเพศ ช่วยทำให้ไม่มีประจำเดือน และก้อนเนื้องอกยุบลงได้

การใช้ยาอีกประเภทที่เพิ่งออกมาใหม่คือ เป็นยาที่ผ่าน อย. และองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ USFDA ให้การรับรองแล้วว่าสามารถกินเพื่อรักษาอาการของเนื้องอกในมดลูกได้

หากกินยาแล้วไม่ได้ผล หรือก้อนเนื้องอกมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แพทย์อาจทำการผ่าตัด โดยอาจผ่าตัดแบบเก็บมดลูกไว้ หรือเอามดลูกออกไปเลย และมีวิธีผ่าตัดทั้งแบบผ่าหน้าท้อง ส่องกล้อง หรือผ่าตัดทางช่องคลอด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ให้การรักษา

การป้องกันอาการเนื้องอกในมดลูก
แม้ว่าจะไม่มีวิธีป้องกันเนื้องอกในมดลูกที่แน่นอน 100% แต่เราสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี โดยในระหว่างที่ตรวจ แพทย์จะทำการคลำท้องหาก้อนเนื้องอกในมดลูกด้วย

โรคหลอดเลือดสมองกับผู้หญิง

โรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือที่เรียกรวมๆ ว่า สโตรก (Stroke) นั้นเป็นสาเหตุของความพิการและการเสียชีวิตโดยเฉพาะในผู้หญิงเป็นอันดับต้นๆ และเนื่องจากผู้หญิงมีอายุยืนกว่าจึงได้รับความทรมานจากโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้ชาย ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองเกิดจากการที่หลอดเลือดที่พาออกซิเจนไปเลี้ยงสมองอุดตัน ทำให้สมองขาดออกซิเจน และเกิดความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อการพูดและการเคลื่อนไหวของร่างกาย อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ในกรณีที่รุนแรง

อาการบอกโรค

อาการของโรคหลอดเลือดสมองมักเริ่มจากแขนขาอ่อนแรงหรือชาบริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัวหรือมองไม่เห็น มีปัญหาด้านการพูดหรือการเข้าใจบทสนทนา ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบไม่มีสาเหตุ รวมถึงอาการวิงเวียนหรือวูบแบบเฉียบพลัน เมื่อมีอาการดังกล่าวควรติดต่อแพทย์ฉุกเฉินทันที เพราะความแตกต่างระหว่างรายที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตกับรายที่มีอาการไม่รุนแรงนัก ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยถึงมือแพทย์ได้เร็วเพียงใดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

“มีหลักฐานทางการแพทย์บ่งชัดเจนแล้วว่า เมื่อเป็นโรคหลอดเลือดในสมองอุดตันต้องรีบพบแพทย์โดยด่วนทันที ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี”

ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิง

  • ผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
  • ไขมันในเลือดสูง
  • โรคหัวใจ อาทิ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดหัวใจตีบ
  • เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ (มีโอกาสในการเกิดโรคซ้ำ 10% ใน 1 ปีแรก)
  • สูบบุหรี่
  • น้ำหนักตัวเกิน
    – ผู้หญิงไม่ควรหนักเกิน 23 BMI (BMI = น้ำหนัก หารด้วยส่วนสูง2)
    – ผู้หญิง เอวไม่ควรเกิน 32 นิ้ว (ผู้ชาย เอวไม่เกิน 36 นิ้ว)
  • ออกกำลังน้อย (ควรออกกำลังกายวันละ 30 นาทีอย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์)
  • ความดันโลหิตสูง

คุมความดันโลหิตห่างไกลโรค

วิธีการหลีกเลี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองทำได้โดยการควบคุมระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ โดยค่าความดันโลหิตปกติเท่ากับ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งผู้หญิงควรจดจำทั้งค่าปกติและค่าความดันโลหิตของตนเอง โดยปัจจัยที่ทำให้ค่าความดันโลหิตสูงผิดปกติ ได้แก่ การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ภาวะทุพโภชนาการ และออกกำลังกาย การออกกำลังกายน้อยหรือไม่ออกกำลังกายมีผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้

ป้องกันรักษาก่อนสาย

  • ควบคุมความดันโลหิต
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • งดดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

“การตรวจสุขภาพเป็นประจำคือวิธีที่ดีที่สุดในการลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง

ความเสี่ยงสำหรับผู้หญิง

แม้ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองของทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะไม่ต่างกันมากนัก แต่ผู้หญิงจะมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษในช่วงที่ตั้งครรภ์ เพราะความดันโลหิตจะสูงกว่าปกติ นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน รวมทั้งผู้ที่เคยรับประทานยาคุมกำเนิด ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นอีกด้วย