โรคหลอดเลือดสมองกับผู้หญิง

โรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือที่เรียกรวมๆ ว่า สโตรก (Stroke) นั้นเป็นสาเหตุของความพิการและการเสียชีวิตโดยเฉพาะในผู้หญิงเป็นอันดับต้นๆ และเนื่องจากผู้หญิงมีอายุยืนกว่าจึงได้รับความทรมานจากโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้ชาย ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองเกิดจากการที่หลอดเลือดที่พาออกซิเจนไปเลี้ยงสมองอุดตัน ทำให้สมองขาดออกซิเจน และเกิดความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อการพูดและการเคลื่อนไหวของร่างกาย อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ในกรณีที่รุนแรง

อาการบอกโรค

อาการของโรคหลอดเลือดสมองมักเริ่มจากแขนขาอ่อนแรงหรือชาบริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัวหรือมองไม่เห็น มีปัญหาด้านการพูดหรือการเข้าใจบทสนทนา ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบไม่มีสาเหตุ รวมถึงอาการวิงเวียนหรือวูบแบบเฉียบพลัน เมื่อมีอาการดังกล่าวควรติดต่อแพทย์ฉุกเฉินทันที เพราะความแตกต่างระหว่างรายที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตกับรายที่มีอาการไม่รุนแรงนัก ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยถึงมือแพทย์ได้เร็วเพียงใดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

“มีหลักฐานทางการแพทย์บ่งชัดเจนแล้วว่า เมื่อเป็นโรคหลอดเลือดในสมองอุดตันต้องรีบพบแพทย์โดยด่วนทันที ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี”

ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิง

  • ผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
  • ไขมันในเลือดสูง
  • โรคหัวใจ อาทิ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดหัวใจตีบ
  • เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ (มีโอกาสในการเกิดโรคซ้ำ 10% ใน 1 ปีแรก)
  • สูบบุหรี่
  • น้ำหนักตัวเกิน
    – ผู้หญิงไม่ควรหนักเกิน 23 BMI (BMI = น้ำหนัก หารด้วยส่วนสูง2)
    – ผู้หญิง เอวไม่ควรเกิน 32 นิ้ว (ผู้ชาย เอวไม่เกิน 36 นิ้ว)
  • ออกกำลังน้อย (ควรออกกำลังกายวันละ 30 นาทีอย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์)
  • ความดันโลหิตสูง

คุมความดันโลหิตห่างไกลโรค

วิธีการหลีกเลี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองทำได้โดยการควบคุมระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ โดยค่าความดันโลหิตปกติเท่ากับ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งผู้หญิงควรจดจำทั้งค่าปกติและค่าความดันโลหิตของตนเอง โดยปัจจัยที่ทำให้ค่าความดันโลหิตสูงผิดปกติ ได้แก่ การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ภาวะทุพโภชนาการ และออกกำลังกาย การออกกำลังกายน้อยหรือไม่ออกกำลังกายมีผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้

ป้องกันรักษาก่อนสาย

  • ควบคุมความดันโลหิต
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • งดดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

“การตรวจสุขภาพเป็นประจำคือวิธีที่ดีที่สุดในการลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง

ความเสี่ยงสำหรับผู้หญิง

แม้ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองของทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะไม่ต่างกันมากนัก แต่ผู้หญิงจะมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษในช่วงที่ตั้งครรภ์ เพราะความดันโลหิตจะสูงกว่าปกติ นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน รวมทั้งผู้ที่เคยรับประทานยาคุมกำเนิด ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ระวังโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่นั้นเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งก็มีความอันตรายเป็นอย่างมาก โดยวันนี้ทางเราก็ได้หยิบยกเอาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาฝากกัน เพื่อจะได้ระมัดระวังกันมากขึ้น ว่าแต่มีโรคอะไรบ้าง ไปดูพร้อมๆ กันเลย

1.โรคติดเชื้อ HPV
HPV เป็นโรคที่เกิดขึ้นมาจากเชื้อ Human Papilloma Virus ที่มีมากกว่า 100 ชนิด โดยเชื้อตัวนี้จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนต่างๆ ได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ตัวอย่างโรคที่พบได้บ่อย ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย และมะเร็งที่ทวารหนัก เป็นต้น

2.เอดส์
โรคเอดส์จัดว่าเป็นโรคที่อันตรายมาก สามารถพรากชีวิตคนได้เลยทีเดียว ซึ่งเอดส์เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า HIV โดยเชื้อนี้จะเข้าไปทำลายในส่วนของเซลล์เม็ดเลือดขาวของร่างกายทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำลง จนไม่สามารถที่จะต้านเชื้อโรคที่เข้ามาได้ และเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด ยกตัวอย่างเช่น วัณโรค ปอดบวม การติดเชื้อในระบบโลหิต ฯลฯ

3.เริมที่อวัยวะเพศ
โรคเริมเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดขึ้นมาจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า HSV เป็นเชื้อที่แฝงตัวอยู่ที่ปมประสาทในส่วนของการรับความรู้สึกและเมื่อร่างกายอ่อนแอ ก็จะแสดงอาการออกมาทันที ซึ่งก็เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกหนึ่งโรคที่น่ากลัวมาก เนื่องจากผู้ป่วยเองจะได้รับเชื้อโดยไม่รู้ตัวและสามารถที่จะนำไปแพร่เชื้อให้กับคู่นอนได้ง่ายอีกด้วย

4.หูดหงอนไก่
โรคหูดหงอนไก่จะมีลักษณะเป็นผื่นสีน้ำตาลนูนหนา คล้ายดอกกะหล่ำ เป็นติ่งเนื้ออ่อนๆ ขึ้นมาอุดกั้นช่องคลอด ทวารหนัก หรือท่อปัสสาวะ โดยโรคนี้เป็นโรคที่สามารถที่จะรักษาให้หายได้ แต่ก็สามารถที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเช่นกัน หากไม่ดูแลตัวเองให้ดี

5.ไวรัสตับอักเสบบี
โรคนี้เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนที่เป็นพาหะที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแฝงอยู่ในร่างกายจะไม่มีอาการแสดงออกมา จึงมีโอกาสที่จะแพร่กระจายไปสู่คนอื่นได้ง่ายที่สุด แต่ก็มีบางคนที่แสดงออกมาเช่นกัน โดยจะมีอาการเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง มีปัสสาวะสีเข้ม ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีอย่างทันเวลา ก็อาจเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

6.หูดข้าวสุก
หูดข้าวสุก เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสเชื้อ โดยเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคนี้ก็คือ poxviridae ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่ได้เข้าสู่ร่างกายทางกระแสเลือดหรือระบบประสาทแต่อย่างไร จึงทำให้ผู้ที่ติดเชื้อหูดข้าวสุก ไม่แสดงอาการออกมามากนัก นอกจากอาการไข้อ่อนๆ เท่านั้น

และนี่ก็คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากเชื้อไวรัสนั่นเอง ซึ่งก็มีความอันตรายเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นควรมีเพศสัมพันธ์ด้วยการป้องกันโดยการสวมถุงยางเสมอ และควรมีคู่นอนเพียงคนเดียวเท่านั้น แล้วคุณจะห่างไกลจากโรคร้ายเหล่านี้

กระดูกสันหลังคด เกิดจากอะไร

กระดูกสันหลังคดเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

1. กระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุ พบในเด็กที่กระดูกสันหลังมีความผิดปกติ โดยมีความคดมากน้อยแตกต่างกัน อาจสังเกตเห็นด้วยตาจากลักษณะภายนอกหรืออาศัยการเอกซเรย์ มีความเสี่ยงในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

วิธีการรักษา แพทย์จะพิจารณาจากอายุ มุมของกระดูกสันหลังที่คด ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะกระดูกหยุดเจริญแล้วหรือยัง เพื่อดูโอกาสของกระดูกสันหลังที่จะหยุดคดเพิ่ม เช่น ผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือน โดยแพทย์จะทำการตรวจเอกซเรย์เพื่อ วัดมุมการคด (ค่ามุมการคด) ที่จำเป็นต้องรักษา

โดยการพิจารณาการรักษาจะทำเพื่อป้องกันภาวะกระดูกคดไม่ให้เพิ่มขึ้น หรือแก้ไขภาวะคดจะทำในกรณีที่ประเมินแล้วพบว่า กระดูกยังไม่หยุดเจริญ ถ้าหากปล่อยไว้กระดูกสันหลังจะคดเพิ่มขึ้นจนมีค่ามุมเกินค่าที่ยอมรับได้ และแก้ไขในกรณีค่ามุมการคดเกินกว่าค่าที่ยอมรับได้ (โดยไม่ต้องดูอายุ) ในบางกรณีมุมการคดไม่มาก แต่ต้องการผ่าตัดอาการคดเพื่อความสวยงาม อาจเริ่มการรักษาโดยไม่ผ่าตัดในกรณีผู้ป่วยอายุน้อยสามารถสวมกายอุปกรณ์คัดลำตัว แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีมุมการคดมาก จำเป็นต้องเลือกการผ่าตัดเพื่อแก้ไขการคด เชื่อมกระดูกสันหลัง และดามโลหะ

2. กระดูกสันหลังคดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง จะมีอาการกระดูกสันหลังคดตั้งแต่เด็ก แต่จะรุนแรงมากกว่าและมีอาการทางระบบประสาท เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย โดยผู้ที่มีความเสี่ยงคือผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นกระดูกคด แต่ก็สามารถเกิดในรายที่ไม่มีประวัติครอบครัวได้เช่นกัน

วิธีการรักษา เนื่องจากกระดูกสันหลังคดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง มีความซับซ้อนในการรักษามาก แพทย์ส่วนใหญ่จำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไข เพื่อลดภาวะความผิดปกติของระบบประสาท

3. กระดูกสันหลังคดจากความเสื่อมของกระดูกสันหลัง พบมากในผู้สูงอายุที่มีภาวะข้ออักเสบ ข้อกระดูกหลังเสื่อม กระดูกพรุน

วิธีการรักษา แพทย์จะทำการแก้ไขภาวะกระดูกคดร่วมกับแก้ไขภาวะอื่นร่วมด้วย เช่น การกดทับรากประสาท

การป้องกันกระดูกสันหลังคอทำได้หรือไม่อย่างไร

การป้องกันกระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุ และกระดูกสันหลังคดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางจะไม่สามารถป้องกันได้ เพียงแต่แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่น ๆ ได้ ดังนั้นหากสังเกตเห็นโดยเร็วจะส่งผลดีต่อการรักษา ส่วนกระดูกสันหลังคดจากความเสื่อมของกระดูกสันหลังนั้น การป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังเสื่อมที่ดีที่สุดคือ ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ใช้หลังและกระดูกสันหลังในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม รวมถึงป้องกันภาวะกระดูกพรุนในผู้สูงวัย